สะพานเชื่อมโยงการศึกษาผู้เรียนพิการ สพฐ.-สอศ.
ผมและครูน้อย อักษรเพชร วิจิตรเรืองชัย (นายอคิราห์ วิจิตร) ได้รับเชิญเข้าร่วมโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนการศึกษาเชื่อมโยงผู้เรียนพิการ ระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2563 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิคุณพุ่ม มูลนิธิออทิสติกไทย (Autistic Thai Foundation มูลนิธิออทิสติกไทย) โรงเรียนการศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
ในความเป็นบุคลากรทางการศึกษาของผม เริ่มตั้งแต่เป็นนักศึกษาสายครุศาสตร์ จนจบการศึกษามาทำงานเป็นครูอัตราจ้าง บรรจุเข้ารับราชการครู ขยับเป็นรองผู้อำนวยการสถานศึกษา จนวันนี้เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา ผมมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ ผมเริ่มสนใจงานด้านการศึกษาสำหรับคนพิการเพื่อการมีงานทำ และเริ่มศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการอย่างเป็นระบบมากขึ้น
การสัมมนาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับคนพิการ กำกับดูแลโดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สามารถที่จะร่วมกันจัดการเรียนการสอนหรือส่งต่อผู้เรียนพิการไปยังสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำ ซึ่งในปัจจุบันดูแลโดยศูนย์พัฒนา ส่งเสริม ประสานงาน กิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ (ศพก.) และยังมีมูลนิธิคุณพุ่มและมูลนิธิออทิสติกไทยเข้าร่วมสัมมนาด้วย ทำให้มองเห็นภาพความเชื่อมโยงในการที่จะพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในมุมมองของผม ในฐานะผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติที่จะต้องลงมือในการเชื่อมโยงให้เกิดขึ้น เราต้องเชื่อมต่อกันให้ชัดเจนในด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งอาชีวศึกษาของเรามีหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะ (ปวพ.) หรือหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นที่อยู่มากมายหลากหลาย
ด้านการจัดการเรียนการสอน ต้องยอมรับว่าบุคลากรของอาชีวศึกษามีความเชี่ยวชาญในการฝึกอาชีพอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าพวกเราไม่มีความรู้ความชำนาญในการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษหรือผู้พิการ ซึ่งตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ แบ่งผู้เรียนพิการออกเป็น 9 ประเภท เพราะฉะนั้นบุคลากรจึงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้การเชื่อมโยงการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการเกิดผลสำเร็จขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ศักยภาพและความชอบของผู้พิการที่อยากจะเรียนอยากจะฝึกอาชีพ ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง (เสียงสะท้อนจากผู้บริหารโรงเรียนการศึกษาพิเศษ) ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่พวกเราชาวอาชีวศึกษาอาจจะคิดไม่ถึง ผมว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความชำนาญด้านการจัดการศึกษาพิเศษที่อาชีวศึกษาไม่เคยบรรจุบุคลากรด้านการศึกษาพิเศษเลย
และคำถามสำคัญที่เป็นโจทย์สำคัญอีกประการหนึ่งคือ คนพิการที่ผ่านการฝึกอาชีพ หรือสำเร็จการศึกษาในระดับ ปวช. หรือ ปวส. แล้ว จะไปทำงานที่ไหน เราจะส่งต่อพวกเขาเข้าสู่โลกของการทำงานได้อย่างไร คำตอบในเรื่องนี้ผมได้เขียนไว้แล้ว ติดตามอ่านได้ที่ https://www.facebook.com/apichat.vec/posts/3507391119296811
ขอขอบคุณผู้จัดงานที่ได้เชิญผมเข้าร่วมงานเล็กๆ แต่ทรงคุณค่ามหาศาลในครั้งนี้ ทำให้ผมได้เห็นความห่วงใยต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการเพื่อการมีงานทำ ท่านผู้ใหญ่หลายท่านอยู่กับพวกเราจนจบงาน ขอบพระคุณท่านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร (นายบุญรักษ์ ยอดเพชร) ดร.ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ดร.สมบูรณ์ อาศิรพจน์ คุณปราโมทย์ ธรรมสโรช ดร.บุญส่ง จำปาโพธิ์ (Boonsong Champabhoti) ดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว (Sarojn Kojuantiaw) ดร.สุดา สุขอ่ำ ผอ.วิชิต วิเชียร (ขออนุญาตไม่กล่าวถึงตำแหน่งของทุกท่าน เพราะผู้อ่านทราบดีว่าทุกท่านคือใคร) และอีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวนาม ขอบพระคุณอย่างสูงครับ
#การจัดการอาชีวศึกษาแบบเรียนรวม #เปลี่ยนความพิเศษให้เป็นพลัง #คนพิการต้องการโอกาสมากกว่าความสงสาร
ถ่ายภาพโดย ใหม่ ไมตรี เอ็มจีเอฟเอฟ จากโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนการศึกษาเชื่อมโยงผู้เรียนพิการ ระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2563 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่